Tuesday, February 17, 2009

ประตูสำหรับคนพิการ

หากเราเคยสังเกตฟุตบาทในกรุงเทพฯ จะพบว่าจะมีแผ่นพื้นสำเร็จที่ปูพื้นที่มีลักษณะเป็นปุ่มกลมๆ นูนขึ้นมา ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นสีเหลือง ซึ่งพื้นปูแบบนี้ผมก็ไม่รู้มาก่อนเหมือนกันว่ามันใช้สำหรับคนตาบอดที่จะสัมผัสเวลาเหยียบเพื่อให้รู้ว่าเดินอยู่บนทางเท้า แต่ก็ลำบากสำหรับคนตาบอดเหมือนกันเพราะว่าทางเท้ามักจะมีพ่อค้าแม่ค้าเอาของมาตั้งซะจนเต็ม ทางทีก็บังพื้นพิเศษนั้นจนมิด

เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐฯ ที่ผมได้พบเห็นมา ก็รู้สึกได้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการจะค่อนข้างมีพร้อม ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีกำหนดไว้ในกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นทางลาดเพื่อขึ้นอาคารสำหรับผู้พิการซึ่งนั่งรถเข็น ที่จอดรถสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ ห้องน้ำ และปุ่มกดเพื่อเปิดประตูอัตโนมัติ

ปุ่มนี้จะถูกติดตั้งไว้ก่อนถึงประตู เพื่อให้ผู้พิการกดเปิดประตู ซึ่งประตูก็จะเปิดค้างอยู่ประมาณห้าถึงสิบวินาที เพียงพอที่จะนั่งรถเข็นผ่านไป (ลักษณะเป็นเช่นในรูป)


Push-Button-on-Post-LD


สิ่งที้ผมค่อนข้างหงุดหงิดใจก็คือผมเห็นคนที่ไม่ได้พิการ ไม่ได้ถือข้าวของพะรุงพะรังจนมือไม่ว่างที่จะเปิดประตู และก็ดูแข็งแรงดี ใช้ปุ่มนั้นเปิดประตูอยู่หลายๆ ครั้ง แม้ว่าจะไม่ได้มีกฎว่าคนธรรมดาห้ามใช้ แต่ว่าอุปกรณ์ทุกอย่างมีอายุการใช้งานของมัน การใช้ปุ่มนั้นเปิดบ่อยๆ ย่อมทำให้เกิดการสึกหรอ รวมถึงต้องใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้นทุนของการเปิดประตูด้วยปุ่มดังกล่าวย่อมสูงกว่าการเปิดประตูด้วยมือตามปกติ แม้ว่าจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก แต่ว่าความเสียหายดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อคนพิการโดยตรง

ย้อนไปเมื่อสมัยผมเรียนมัธยม ตึกหนึ่งที่เรียนเป็นตึกห้าชั้น และทั้งตึกก็มีลิฟท์อยู่หนึ่งตัว ซึ่งเป็นลิฟท์สำหรับอาจารย์เท่านั้น นักเรียนห้ามใช้ แต่ว่าพวกเราก็มักจะแอบใช้เมื่อมีโอกาส เหตุผลก็คือความตื่นเต้นที่ได้ฝืนกฏสำเร็จและความสบายจากการไม่ต้องเดิน อย่างไรก็ตามก็จะมีอาจารย์คอยลงโทษถ้าจับได้ โดยท่านหนึ่งที่ลงโทษพวกเราจนเข็ดหลาบก็คือ อาจารย์จักกฤช สุทธิกลัด ซึ่งจะตีพวกเราด้วยไม้เรียวขนาดใหญ่ และสั่งสอนว่าการใช้ลิฟท์บ่อยๆ จะทำให้มันเสียเร็ว และคนที่เดือดร้อนก็คือ อาจารย์ที่สูงอายุซึ่งบางทีต้องเดินขึ้นบันไดสี่ห้าชั้นเพื่อขึ้นไปสอน ในช่วงระหว่างที่ลิฟท์ยังไม่ได้ซ่อม

เรื่องที่ผมยกขึ้นมาทั้งสองเรื่องอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วความคิดของคนส่วนใหญ่แล้วมันจะนึกถึงความสบายของตนเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวโดยยึดแนวคิดดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผิดกฎระเบียบแต่ว่าบางทีมันก็ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นได้โดยที่เราอาจคาดไม่ถึง


หมายเหตุ: อาจารย์จักกฤช ปัจจุบันได้ถึงแก่กรรมแล้ว ซึ่งท่านก็เป็นอาจารย์ที่สอนวิชาฟิสิกส์ผมตอนอยู่ ม.๔ และยังเป็นบิดาของเพื่อนร่วมห้องและร่วมคณะเดียวกันในมหาวิทยาลัยของผมด้วย

รูปจาก: http://www.configure.ie/Accessible_Building_Equipment/upload/Image/Push-Button-on-Post-LD.jpg

No comments:

Post a Comment