Thursday, February 12, 2009

ห้วยปูใหม่

วันก่อนได้อ่านบทความเกี่ยวกับดอยตุง เรื่องผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านตามโครงการพระราชดำริ ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าเราก็เคยไปอยู่ที่ดอยตุงตั้งเกือบเดือน แต่มันก็นานหลายปีแล้วไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้้างตอนนี้ จำได้ประมาณว่าไปตอนอยู่ปีสาม ที่จุฬาฯ ลองนับปีดูแล้ว ใช้นิ้วมือเกือบไม่พอ ประมาณแปดเก้าปีมาแล้ว
ที่ต้องไปเพราะว่าเป็นส่วนนึงของโปรเจคที่ต้องทำก่อนเรียนจบ คือคนอื่นฝึกงานกันแล้วทำโปรเจคจบ แต่ว่าผมกับเพื่อนหลายคนไม่ได้ทำ โครงการที่ไปทำีที่ดอยตุงเป็นของมหาลัยที่ญี่ปุ่น (Nagoya U.) จะมาศึกษาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชาวเขา อาจารย์ที่คณะที่ทำโครงการร่วมกับญี่ปุ่นก็เลย ต้องการหานักศึกษาไปร่วมเก็บข้อมูล จริงๆ คือไปเป็นล่ามให้เขา เพราะเวลาไปสัมภาษณ์ชาวเขา ก็จะมีล่ามคนนึงแปลภาษาชาวเขา เป็นภาษาไทย แล้วพวกเราก็แปลเป็นภาษาอังกฤษให้คณะของทางญี่ปุ่นอีกทีนึง

จำไ้ด้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สนุกมาก เพราะมีเพื่อนในกลุ่มไปกันเกือบสิบคน ทำงานตั้งแต่เช้านั่งรถตู้ขึ้นไปบนดอยตุง หมู่บ้านที่ไปเก็บข้อมูลคือ หมู่บ้านห้วยปูใหม่ พอตอนเย็นๆ ก็กลับ แ่ต่ทางไปหมู่บ้านนี่โคตรน่ากลัว เพราะถนนเล็กมาก ถ้าคนขับไม่ชำนาญนี่ได้ลงไปนอนกลิ้งเล่นในเหวแน่ๆ แต่ตามทางพอสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีการปลูกพืชเศรษฐกิจอยู่ตามเขา เต็มไปหมด ที่จำได้ก็คือ กาแฟ เพราะเห็นมันออกลูกแดงๆ เต็มต้นไปหมด

ทุกวันพอกลับมาตอนเย็นที่โรงแรมนี่ก็สบายแล้ว เพราะไม่มีงานต้องทำต่อ ออกไปนั่งกินเบียร์ข้างๆ โรงแรมเกือบทุกวัน กับแกล้มส่วนใหญ่ก็เป็นขนมขบเคี้ยว จำได้ว่ามีมันฝรั่งทอดมันทำเลียนแบบเลย์ แต่ตั้งชื่อว่า “ลุย” แต่มันทำเหมือนมาก ประทับใจจริงๆ

บางวันก็เมา อ๊วกอยู่แถวนั้น อาศัยเพื่อนพากลับมาที่ห้อง เรียกว่าชีวิตตอนไปอยู่เชียงรายช่วงนั้นโคตรมีความสุข อากาศก็ดี ไม่ต้องมีเรื่องอะไรที่ต้องคิดมาก ทั้งเรื่องอนาคต เรื่องเรียน (นั่นดิ ปัจจุบันเลยต้องใช้กรรม)

การไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน (ชาวเขา) ที่ันั่นก็ได้อะไรมาเยอะ จำได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้กินหนอนเยื่อไผ่ หรือที่เขาเรียกกันว่ารถด่วน ตอนแรกก็ไม่กล้ากิน แต่ว่าก็มีคนบอกว่าให้กินเพราะชาวบ้านจะได้ดีใจ ก็เลยลองกินดู ในมื้อแรกที่ชาวบ้านเขาเลี้ยงข้าวก็กินหนอนเยื่อไผ่คั่วเกลือ และก็หน่อไม้ กินไปกินมาอร่อยดี จนมารู้ตอนหลังว่ามันเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของชาวบ้านที่เดียว โลนึงเป็นร้อย ชาวบ้านเขาก็ลองสาธิตวิธีหาหนอนให้ดูไม่รู้ว่าแกเลือกปล้องไม้ไผ่ยังไง พอฟันฉับออกมาหนอนตัวขาวๆ มีอยู่เต็มปล้องเลย

ป่าที่นั่นก็สมบูรณ์มาก มีวิวนึงที่จำได้คือ ออกไปหลังหมู่บ้านมันเป็นเขา มองไปมันกว้างใหญ่จริงๆ จนทำให้รู้สึกว่าเรานี่มันเป็นส่วนเล็กๆ ของโลกๆ จริงๆ และก็ไม่ได้เห็นฟ้ากว้างๆ อย่างนั้นมานานแล้ว อากาศก็บริสุทธ์มาก จนเพื่อนบางคนบอกว่าต้องอัดบุหรี่ซะหน่อยอากาศดีจริงๆ -_-“

อีกอย่างนึงที่จำได้แม่นและประทับใจมากก็คือ ตอนไปสัมภาษณ์ชาวบ้านคนนึง ทั้งบ้านแกไม่มีอะไรเลย เป็นกระท่อมมีเตียงอยู่ตัวเดียว และก็มีพวกเครื่องครัวอะไรอีกนิดหน่อย มีเท่านั้นจริงๆ แกก็เก็บพวกของป่าขายและก็ปลูกอะไรขายนิดหน่อย พอทีมจากญี่ปุ่นเขาถามว่าอยากได้อะไรมั๊ย ไอ้เราก็คาดการณ์ว่าแกคงจะอยากได้อะไรหลายอย่าง แต่ผิดคาดแกบอกว่าไม่อยากได้อะไร แต่ถ้ามีหลังคาใหม่ก็ดี เพราะตอนฝนตกมันชอบรั่ว แกต้องการแค่นั้นจริงๆ

ผมเองก็อึ้งไปเหมือนกัน ก็เลยคุยกับเพื่อนว่า บางทีเรา (คนเมือง) ก็มักจะคิดแทนชาวบ้านว่าเขาต้องการได้นู่นได้นี่ รู้สึกแทนเขาว่าเขาขาดอะไรหลายอย่าง ตามบรรทัดฐานของเรา ทั้งที่จริงเขามีความสุขและพอเพียงของเขาอยู่แล้ว ทั้งที่จริงๆ แล้วองค์ประกอบของการมีชีวิตอยู่ของคนเรามันไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เพียงแต่ว่าเราเอาชีวิตไปผูกติดกับสังคมและเงื่อนไงที่มันซับซ้อนเอง

ในความคิดของผม ความสะดวกสบาย=ความเคยชิน ความไม่สะดวกสบาย=ความไม่ชิน ไอ้ความไม่ชินนี่เองที่เป็นต้นเหตุของความวุ่นวายทั้งหลาย ทำให้ต้องทุกข์ไขว่คว้าหาสิ่งต่างมาเพื่อรักษาหล่อเลี้ยงสภาพที่ตัวเองเป็นอยู่

เคยอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสที่ท่านเทศน์เกี่ยวกับความเจริญ คือตามที่ท่านเทศน์ ความสะดวกสบาย≠ความสุข และ ความเจริญ ≠ความสุข อย่างเช่นหมู่บ้านที่อยู่กันอย่างสงบสุขมีความสุข แต่ไม่เจริญ พอความเจริญเข้ามา ก็เริ่มมีทีวี มีรถ ยิ่งทำให้ต้องขวนขวายหาเงินมาสนองความต้องการ ถามว่าสบายขึ้นไหม ใช่ แต่ว่ามีความสุขไหม ไม่แน่ ต้องทำงานกันหนักขึ้น เป็นหนี้เป็นสิน ในที่สุดรอยยิ้มก็หายไป
ที่คล้ายๆ กันก็มีที่พระธรรมปิฎกเทศน์ไว้ พอดีไปดาวน์โหลดมาได้ ชื่อเรื่อง สุขข้างนอก สุขข้างใน ท่านเทศน์ พอสรุปความได้ว่า คนเราเดี๋ยวนี้มีความสุขกันยากขึ้น เพราะเอาความสุขไปผูกติดกับเงื่อนไขต่างๆ มากมาย เช่น ต้องมีนั่น มีนี่ ถึงมีความสุข และยิ่งทำให้ต้องไขว่คว้าหาสิ่งนอกกายมาเพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง ท่านก็บอกว่าถ้าเราลดความอยาก และมีความสุขจากข้างในใจ ไม่ใช่จากสิ่งภายนอก เราก็จะมีเหลือไปแบ่งปันแจกจ่ายให้คนอื่นได้มีความสุขได้เพิ่มขึ้น

อีกอย่างที่ผมกังวลตอนที่ได้ไปเก็บข้อมูลที่ห้วยปูใหม่ก็คือ สื่อที่เข้าไปถึงชาวบ้านโดยเฉพาะที่ผ่านทางโทรทัศน์ คือ ชาวบ้านเขาเชื่อจริงๆ ตามที่โฆษณาบอก เช่น ใช้แชมพูยี่ห้อนี้แล้วจะสวยเหมือนกบสุวนันท์ ผมว่าโทรทัศน์นี่ตัวดีเลย ที่สร้างกิเลส และความอยากให้ชาวบ้าน และอาจทำลายวิถีชีวิตที่มีความสุขของเขาได้

ทำให้นึกถึงได้ถึงแนวทางพระราชดำริของในหลวงเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้ว มีชีวิตที่มีความสุขที่ไม่ต้องหล่อเลี้ยงด้วยความทุกข์จากการแสวงหาไขว่คว้าจนเกินตัว ผมก็หวังเหมือนกันว่าจะพยายามลดเงื่อนไงของความสุขในการมีชีวิตอยู่ให้น้อยลงเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าพอโตขึ้นเรื่อยๆ ก็มีความสุขยากขึ้นเรื่อยๆ

(เขียนเมื่อ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๙)

No comments:

Post a Comment