Thursday, February 12, 2009

หนังสือมือสอง

คงมีหลายคนที่ชอบการซื้อหนังสือมือสอง ผมก็เป็นคนหนึ่งเหมือนกัน ไม่เฉพาะหนังสือเรียน รวมถึงหนังสือทั่วไปด้วย ข้อดีของหนังสือมือสองก็คือ ราคาถูก คุณภาพพอรับได้ และยิ่งถ้าเป็นหนังสือที่คนซื้อจะใช้ในช่วงระยะเวลาไม่นานเช่นพวก Textbook ซื้อหนังสือมือสองก็คุ้มกว่าซื้อหนังสือใหม่มาก แม้ว่าบางทีจะเป็นเอดิชั่นเก่า แต่ว่าเนื้่อหามันก็เปลี่ยนไม่มาก (บางทีเปลี่ยนแค่คำนำ)

แต่สำหรับผมซื้อหนังสือมาแล้วไม่อยากขาย คือเป็นพวกชอบสะสม ซื้อมา อ่านแล้ว และก็ไม่คิดจะอ่านอีก ก็เก็บไว้ (เป็นความคิดที่เห็นแก่ตัวพอสมควร) เรียกว่าเป็นพวกช่างเก็บ จำได้ว่าตอนไปเรียนที่อังกฤษเรียนแค่ปีเดียว แต่ว่าตอนที่ชิปของกลับมาที่เมืองไทยมีหนังสือประมาณสามสิบสี่สิบโลได้ และก็ยังมีที่อยู่ในกระเป๋าเดินทางอีกหลายเล่ม ซื้อมาก็เดือดร้อนที่บ้านต้องหาที่เก็บอีก สามารถทำเป็นห้องสมุดย่อมๆ ได้เลย เพราะพี่ชายก็ชอบซื้อหนังสือเหมือนกัน เต็มบ้านไปหมด

พูดถึงหนังสือมือสอง ตอนอยู่ที่เมืองไทยหาซื้อไม่ค่อยได้ ถ้าไม่ได้ไปเดินตามจตุจักร เพราะไม่รู้เหมือนกันว่าในกรุงเทพที่ไหนมีที่ขายหนังสือมือสองเยอะๆ อีก แต่เวลาไปเดินซื้อมันหาหนังสือยากเหมือนกันเพราะมีไม่กี่ร้านที่มีการจัดหมวดหมู่เหมือนพวกหนังสือเรียนที่จัดเป็นวิชาๆ หนังสือท่องเที่ยว หนังสือทำอาหาร ฯลฯ แต่ถึงยังไงก็ชอบเดินดูอยู่ดี แม้ว่าไม่ได้ตั้งใจจะซื้อเล่มไหนเป็นพิเศษ เผื่อว่าจะเจอหนังสือที่ถูกใจก็จะได้ซื้อกลับบ้าน

ตอนอยู่ที่นี่ (พิตส์เบอร์ก) แถวอพาตเมนต์ก็มีร้านหนังสือมือสองอยู่สองร้านเท่าที่เห็น เคยไปเดินร้านนึง จัดดีมาก ข้างในติดแอร์ จะจัดตู้หนังสือเหมือนห้องสมุดเลย สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ธุรกิจ (มีมุมนึงเกี่ยวกับหนังสือเกย์ด้วย แสดงว่าเป็นหมวดที่มีคนสนใจเยอะเหมือนกัน) วันนั้นที่ไปเดินก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปซื้ออะไร ก็เข้าไปดู มุมที่เข้าไปดูก่อนก็คือหนังสือหมวดสังคมศาสตร์ (เศรษฐศาสตร์) ก็เลยได้หนังสือมาสองเล่ม เล่มแรกเป็นหนังสือเกี่ยวกับ Business Cycle ของ Mitchell เล่มที่ซื้อมานี่เป็น 19th edition ปี 1966 (พิมพ์ครั้งแรกนี่ปี 1927) ซึ่งเท่าที่เรียนมาคนนี้เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาเกี่ยวกับ Business Cycle ร่วมกับ Burns ทั้งสองคนนี้ก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง National Bureau of Economic Research (NBER) ซื้อมาก็ไม่ได้กะว่าจะมาอ่านแต่อย่างใด แต่ว่ามีความรู้สึกว่าอยากเก็บไว้ อีกเล่มนึงคือ Think and Grow Rich ของ Napoleon Hill ซึ่งมีคนเอามาแปลเป็นภาษาไทย ที่บ้านก็มีเล่มภาษาไทยแต่จำชื่อไม่ได้ว่าชื่ออะไร อันนี้พิมพ์ปี 1940 เก่าอีกเหมือนกัน แต่ว่าทั้งสองเล่มอยู่ในสภาพดีมาก คาดว่าเจ้าของอาจไม่ค่อยได้อ่านเหมือนกัน (ไม่รู้ว่าผ่านมากี่มือแล้ว)

พูดถึงธุรกิจร้านหนังสือเก่าแล้ว (ไม่รวมพวก Amazon นะ) อย่างเช่นในเมืองไทย (ไม่รู้ว่าธุรกิจร้านหนังสือเก่าที่นี่เป็นยังไง แต่คิดว่าคงไม่ต่างกันมาก) ถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์แล้วผมว่ามันเกิดจากการมองคุณค่าที่ต่างกัน

เริ่มจาก ผู้ขายหนังสือ (ให้ซาเล้งหรือร้านหนังสือเก่า) มองคุณค่าของหนังสือที่ขายโดยอาจนำไปเทียบกับการขายกระดาษหนังสือพิมพ์อะไรประมาณนั้น คืออาจมีค่ามากกว่าหน่อยนึง (เหมือนว่ามีอยู่ก็ไม่ได้ใช้รกบ้านเปล่าๆ)

ร้านหนังสือ มองคุณค่าของหนังสือเก่าว่ามีค่ามากกว่าการประเมินเป็นเศษกระดาษมากๆ และคิดว่าคงสามารถมองดูว่าเล่มไหนที่มีค่า (สำหรับนักสะสมหรือผู้ที่ต้องการเอาไปใช้งาน)

คนซื้อ อันนี้คงมีการประเมินค่าแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล แต่ว่าพอถึงขั้นนี้แล้ว ผู้ซื้อ (ในกรณีที่ซื้อไปอ่านหรือใช้งาน) จะประเิมินค่าหนังสือเก่า ไม่ได้เปรียบเทียบกับเศษกระดาษแล้ว แต่ว่าจะประเมินค่าเทียบกับหนังสือที่ขายในร้านหนังสือ แล้วก็มีการหักส่วนลดลงมาหน่อยกับสภาพของหนังสือ สำหรับผู้ที่จะนำไปเก็บสะสมก็คงมองค่าไปอีกแบบซึ่งคิดว่าคงสูงกว่าแบบแรก แต่ว่ามุมมองคุณค่าของแต่ละคนก็จะ่ต่างกันมาก

จำได้ว่าเคยอ่านข่าวนึงในเมืองไทยที่นักวาดรูป (ไม่แน่ใจ) แกไปเดินตามตลาดนัดพวกที่ขายของเก่า ก็ไปเจอแผงที่ขายพวกกระดาษหรือหนังสือเก่าเป็นมัดๆ ไว้ แกก็ไปเจอมัดรูปกระดาษวาดเขียนเก่ามาก มีรอยมอดกินเต็มไปหมด บังเอิญแกได้ไปเจอกระดาษคำตอบวาดรูปเพื่อสอบเข้าศิลปากรของศิลปินที่มีชื่อเสียงแนวหน้าของไทยคนหนึ่ง (จำไม่ได้เหมือนกันว่าชื่ออะไร) คิดว่าคงเมื่อประมาณหลายสิบปีมาแล้ว ซึ่งก็นับเป็นการค้นพบที่มีคุณค่ามาก และคิดว่าแกคงซื้อมาในราคาไม่กี่บาท

สำหรับผมหนังสือเก่าหรือหนังสือใหม่ก็อ่านได้เหมือนกัน แต่่ว่าหนังสือเก่าบางทีมันก็มีค่าที่ว่าเราไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้าน เพราะไม่ได้มีพิมพ์แล้ว ซึ่งผมก็ชอบกลไกธุรกิจของร้านหนังสือเก่าตรงที่ว่า มันสามารถทำให้คุณค่าของหนังสือกลับคืนมาจากจุดที่มันแทบจะมีค่าเท่ากับเศษกระดาษหรือหนังสือพิมพ์ ให้มีค่าอย่างที่มันควรจะเป็น (จะว่าไปแล้วหนังสือพิมพ์บางฉบับมันก็น่าสะสมเหมือนกัน โดยเฉพาะฉบับในวันที่เกิดเรื่องราวสำคัญในประวัติศาสตร์ขึ้น เห็นตามจตุจักรก็มีขายเยอะแยะ)

คุณค่าของหนังสือไม่ได้อยู่ที่ว่าสภาพภายนอกมันเป็นยังไง มันอยู่ที่เนื้อหาข้างในต่างหาก เคยมีนักเขียนท่านนึงให้สัมภาษณ์ว่าเวลาซื้อหนังสือเขาจะซื้อเล่มที่มันมีตำหนิที่คนอื่นไม่เอากัน เพราะว่าถ้าไม่ซื้ออีกไม่นานหนังสือเล่มนั้นก็คงถูกส่งกลับไปสำนักพิมพ์ คงถูกเอาไปกองรวมๆ กัน อย่างไม่มีค่าอะไร (ไม่รู้ว่าที่แกพูดอย่างนั้นเพราะแกเขียนหนังสือขายหรือเปล่านะ) แต่เวลาผมไปซื้อหนังสือ ถ้าไม่ได้ซื้อไปให้ใคร ก็พยายามเลือกเล่มที่มีตำหนิเหมือนกัน แต่ต้องอ่านได้นะ หน้าไม่หาย อ่านได้ชัดเจน เพราะว่าทิ้งไว้คนอื่นก็คงเลือกแต่เล่มสวยๆ ไปหมด ทั้งที่มีคุณค่าเหมือนกัน

(เขียนเมื่อ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๙)

No comments:

Post a Comment