Thursday, February 12, 2009

เรื่องของเฉียวฟง

เฉียวฟงเป็นตัวละครที่มีบทบาทเด่นคนหนึ่งในนิยายจีนเรื่อง “แปดเทพอสูรมังกรฟ้า” แต่งโดย “กิมย้ง” นักเขียนซึ่งมีผลงานที่มีชื่อเสียงคือ “มังกรหยก” ผมได้อ่านแปดเทพอสูรมังกรฟ้าเมื่อเกือบสิบปีก่อนโดยยืมมาจากเพื่อนคนหนึ่ง เป็นนิยายเรื่องยาวประมาณขนาดพ๊อกเกตบุ๊ค 6-8 เล่มได้ แต่ว่าผมก็อ่านจบภายในไม่กี่วัน เนื่องจากอ่านแบบหามรุ่งหามค่ำมาก เพราะมันเป็นนิยายที่ผมวางไม่ลงจริงๆ

แต่ว่าไม่นานมานี้ก็ได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับแปดเทพอสูรมังกรฟ้าอีกจากหนังสือชื่อ “สามก๊กฉบับคนกันเอง เล่มสอง” ซึ่งพี่ชายส่งมาให้ หนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่แล้วกล่าวถึงเนื้อหาในเรื่องสามก๊ก แต่ว่าก็มีบางบทกี่กล่าวโยงไปถึงนิยายจีนหลายๆ เรื่อง และเรื่องหนึ่งที่ได้มีการกล่าวถึงก็คือแปดเทพอสูรมังกรฟ้า

ผมคงไม่กล่าวถึงเนื้อหาโดยย่อของเรื่อง แต่จะกล่าวถึงชีวิตบางส่วนของเฉียวฟงซึ่งเป็นตัวละครที่เป็นตัวเดินเรื่องที่สำคัญ เฉียวฟงเป็นหัวหน้าพรรคกระยาจก ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งที่สูงสำหรับคนในวัยประมาณ 30 ย่าง 31 ปี (เมื่อเทียบกับผมในวัยเดียวกันก็เป็นได้แค่สมาชิกกลุ่มเหียก) เฉียวฟงมีวรยุทธ์สูง ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากสมาชิกพรรคและชาวยุทธ อย่างไรก็ตามโดยชาติกำเนิดแล้วเฉียวฟงไม่ใช่ชาวฮั่น แต่เป็นชาวซิตันซึ่งเป็นอีกเผ่าที่เป็นปรปักษ์กับชาวฮั่น เฉียวฟงเองก็ไม่ได้ทราบความจริงนี้มาก่อน

เมื่อความจริงนี้ถูกเปิดเผยออกไปทำให้ชาวยุทธในจงหยวน (แผ่นดินของชาวฮั่น) เกิดความไม่ไว้วางใจเฉียวฟงเนื่องจากมีชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากชาวฮั่น และเนื่องด้วยมีสมาชิกพรรคบางคนต้องการกำจัดเฉียวฟงเพื่อผลประโยชน์ ทำให้มีการกล่าวหาเฉียวฟงในคดีฆาตกรรมต่างๆ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันกับชาติกำเนิดของเฉียวฟง ทั้งที่เฉียวฟงไม่ได้เป็นคนทำ กล่าวง่ายๆ ก็คือ พอเกิดเรื่องชั่วร้ายในยุทธภพก็กล่าวหาเฉียวฟงไว้ก่อน

ในนิยายจีนหลายๆ เรื่อง มักมีการแบ่งจอมยุทธ์ออกเป็นสองข้างก็คือ ฝ่ายธรรมะ กับฝ่ายอธรรมหรือพรรคมาร แต่เท่าที่ได้อ่านมาการกระทำของฝ่า่ยที่เรียกว่าธรรมะนั้นก็ไม่ต่างจากพรรคมารเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น พวกจอมยุทธ์ฝ่ายธรรมะมักกล่าวว่ากำจัดคนชั่วใช้วิธีที่ผิดคุณธรรมได้ การใช้ยาพิษ การใชุ้ตัวประกัน หรือการกลุ้มรุมโจมตี ก็สามารถทำได้ จริงๆแล้วการแบ่งเ็ป็นพรรคเทพพรรคมารก็เป็นแค่สัญญลักษณ์เท่านั้น ดีชั่วขึ้นอยู่กับการกระทำจริงๆ ต้องแยกแยะเป็นกรณีๆ ไป พรรคมารก็ไม่ได้ทำเรื่องเลวร้ายเสมอไป และฝ่ายธรรมะก็ทำเรื่องผิดคุณธรรมได้

มีฉากหนึ่งในเรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้าที่ผมสะท้อนใจมากก็คือ ฉากที่เฉียวฟงพาคนรักไปให้หมอเทวดารักษา ซึ่งชาวยุทธ์ทั้งหลายก็มารวมตัวกันเพื่อกำจัดเฉียวฟง ไม่ว่าเฉียวฟงจะอ้อนวอนขอการรักษาอย่างไร ชาวยุทธ์เหล่านั้นก็ไม่ยอม เพราะว่าเห็นนางมากับเฉียวฟง ฉากต่อสู้ในการชุมนุมชาวยุทธ์นี้เป็นฉากที่สะใจคอซาดิสม์มาก หลังจากที่เฉียวฟงได้ดื่มเหล้าตัดสัมพันธ์กับชาวยุทธ์ทั้งหมด ก็ฆ่าเหล่าชาวยุทธ์ตายไปเป็นจำนวนมาก ทั้งที่พวกนั้นรุมแบบหมาหมู่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเฉียวฟงมีฝีืมือสูง

ในที่สุดกว่าชาวยุทธ์ทั้งหลายจะรู้ว่าเฉียวฟงเป็นผู้บริสุทธ์ก็ทำให้เกิดความสูญเสียต่อทั้งสองฝั่ง ถามว่าเฉียวฟงผิดไหม ผมก็ว่าไม่ผิดเพราะก็ต้องทำเพื่อปกป้องตัวเองกับคนที่เขารัก ส่วนชาวยุทธ์ทั้งหลายก็ไม่ผิด แต่ว่าขาดการไตร่ตรอง เนื่องจากชาติพันธุ์ของเฉียวฟงตางจากพวกเขา และประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน สามารถปลุกระดมให้คนเข้าร่วมได้โดยง่าย (อย่างที่เราเคยเห็นมาในอดีต เช่น ลัทธิชาตินิยม การต่อต้านคอมมิวนิสต์)

สำหรับคนที่สร้างกระแสความเกลียดชังให้เกิดขึ้นต่อฝ่ายตรงข้าม ประเด็นละเอียดอ่อนอย่างที่ได้ยกตัวอย่างมา เป็นประเด็นที่รวมกลุ่มคนให้เข้ามาร่วมได้โดยง่า่ย เป็นประเด็นที่ทำำให้เกิดการหน้ามืดตามัวขาดการไตร่ตรอง เมื่อสร้างกระแสได้แล้ว มันไม่ยากเลยที่จะเพิ่มประเด็นที่ “ไม่ใช่ข้อเท็จจริง” หรือ “ข่าวลือ” เข้าไปในการปลุกระดมนั้นด้วย เมื่อกลุ่มคนกำลังไหลไปตามกระแสของผู้ปลุกระดมแล้วความสามารถในการแยกแยะก็จะลดลง อุปมาเหมือนคนที่ำกำลังลอยอยู่ในสายน้ำที่พัดเชี่ยว คนจะโยนดอกไม้หรือหมาเน่าลงมา ก็อาจแยกแยะไม่ได้ เพราะน้ำมันไหลเชียวเสียเหลือเกิน

จริงๆ แล้วเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าข้อมูลที่เราเสพย์อยู่ทุกวันนี้มีส่วนที่เป็น “ข้อเท็จจริง” มากน้อยเพียงไร จึงต้องใช้สติไตร่ตรองให้หนัก จากประสบการณ์ตรงของผมเอง เมื่อประมาณสี่ห้าปีก่อนมีกลุ่มคนมาประท้วงที่สถานที่ำทำงาน ซึ่งผมกะประมาณดูก็ประมาณ 1-2 พันคนได้ เนื่องจากสถานที่ำทำงานมีเนื้อที่เล็กมาก พอวันรุ่งขึ้นอ่านหนังสือพิมพ์ก็มีการลงข่าวว่ามีผู้มาประท้วง 7-8 พันคน ซึ่งไม่มีทางที่มันจะเยอะขนาดนั้นเพราะมีเนื้อที่นิดเดียว เมื่อมันเป็นอย่างนี้ผู้ที่ไม่ได้สัมผัสกับข้อเท็จจริงโดยตรงไม่มีวันรู้ได้เลยว่าเรื่องราวจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร

การมีชีวิตในสังคมปัจจุบันนี้ จึงต้องใช้สติตรึกตรองให้หนัก เมื่อต้องการตัดสินใจอย่างไรต้องหาข้อมูลหลายด้านประกอบกัน อย่าให้ไหลไปตามกระแส อย่างเช่นในนิยายจีน วิญญูชนจอมปลอมหลายคนสามารถกล่าวความเท็จ ยกตนเป็นคนดีมีคุณธรรม และกล่าวหาใส่ร้ายคนอื่นว่าเป็นคนร้าย ตัวอันตรายสำหรับยุทธภพได้อย่างไม่กระดากปาก และที่น่าเศร้าคือ นอกจากในนิยายจีนแล้ว ในโลกแห่งความจริงก็มีวิญญูชนจอมปลอมเหล่านี้อยู่ด้วย

ในขณะที่อ่านเรื่องเกี่ยวกับเฉียวฟง ผมก็นึกถึงเรื่องของบุคคลสำคัญท่านหนึ่งก็ ซึ่งสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยมากมาย แต่ก็ถูกขบวนการใส่ร้ายป้ายสีจนไม่สามารถกลับมาตายยังแ่ผ่นดินเกิดได้ ซึ่งก็คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ ... (อ่านเพิ่มเติมประวัติของท่านปรีดี ได้ที่ http://www.sarakadee.com/feature/2000/04/index.htm)

เรื่องที่สะท้อนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ สภาพสังคมในขณะนี้เหมือนมีการบังคับให้เลือกข้างอย่างไรก็ไม่รู้ เหมือนว่าแม้จะเลือกข้าง “ข้อเท็จจริง” ก็ไม่ได้ ... เมื่อหลายวันก่อนได้อ่านข่าวในเวบไซด์แห่งหนึ่ง ซึ่งผมว่ามันลงข้อเท็จจริงไม่ครบ จึงไปโพสในส่วนของความเห็น โดยโพส “ข้อเท็จจริง” ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่มีอยู่ชัดเจน พออีกวันหนึ่งไปอ่านดู ก็มีคนมาโพสเพิ่มเติมต่อว่า ว่าเป็นอีกฝ่ายหนึ่งมาบ่อนทำลาย ด่าพ่อล่อแม่ตามระเบียบ ... อนิจจา

(เขียนเมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๑)

1 comment:

  1. เฉียวฟง ผมชอบมากๆครับ เป็นลูกผู้ชายโดยแท้

    ReplyDelete