Thursday, February 12, 2009

พจนานุกรม สอ เสถบุตร

ได้อ่านหนังสือสารคดีเล่มเก่าๆ ทางเนทเกี่ยวประวัติของ สอ เสถบุตร ซึ่งเป็นคนที่แปลพจนานุกรมให้คนไทยได้ใช้กันมานานหลายสิบปี ได้อ่านประวัติแล้วก็น่าสนใจมาก

http://www.sarakadee.com/feature/2002/04/so_sethaputra.htm

สอ เสถบุตร หรือ นามสกุลเดิม เศรษฐบุตร ซึ่งไ้ด้เปลี่ยนหลังจากช่วงสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามที่ต้องการให้เปลี่ยนการสะกดให้ใช้ตัวสะกดตามเสียง ซึ่งหลังจากหมดยุคนั้นนั้นสามารถเปลี่ยนคืนได้ แต่ สอ ก็ไม่ได้เปลี่ยนเพราะผู้อ่านทั้งหลายรู้จักท่านในชื่อนี้แล้ว

สอ เสถบุตร เกิดในสกุลใหญ่ แต่เนื่องด้วยบิดาไม่ได้รับมรดกจากครอบครัว ครอบครัวของ สอ จึงไม่ได้มีฐานะร่ำรวยนัก หลังจากนั้นบิดาก็เสียชีวิต ท่านจึงต้องหางานทำโดยการสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้ท่านได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษไปด้วย หลังจากท่านจบมัธยมแปด ก็ได้ไปสอบไล่เพื่อชิงทุนเล่าเรียนหลวง ซึ่งท่านก็สอบได้เป็นที่สอง จึงได้รับทุนไปเรียน ซึ่งท่านเลือกเรียนเกี่ยวกับการเหมืองแร่ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมารดาได้ขอร้องไว้ เนื่องจากมารดาไม่ต้องการให้เรียนเกี่ยวกับนักบินหรือการซ่อมเครื่องบิน

ท่านใช้เวลาเรียนสามปีก็จบปริญญาตรี พอช่วงที่กำลังเรียนต่อโทก็ถูกเรียกกลับมารับราชการ (ได้อ่านช่วงนี้จึงรู้ว่าตอนช่วงสมัยนั้น พ.ศ.2464 เดินทางไปอังกฤษใช้เวลา 48 วัน เราก็เลยคิดว่าที่บ่นตอนนั่งเครื่องสิบกว่าชั่วโมงนี่มันเด็กๆ ไปเลย)

หลังจากจบมาก็รับราชการได้รับความก้าวหน้าเป็นลำดับ ได้บรรดาศักดิ์เป็นถึงคุณหลวง และท่านก็ยังใช้เวลาอีกส่วนเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ซึ่งในช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน สถานการณ์ทางการเมืองก็ยังมีความวุ่นวายพอสมควร ในช่วงกบฎบวรเดชทำการไม่สำเร็จ ท่านก็ถูกจับกุมด้วยเพราะว่าคณะผู้จัดทำหนังสือพิมพ์ที่ท่านเขียนบทความไปลงมีส่วนในการก่อการนั้นด้วย ซึ่งนับว่าเป็นโชคร้ายของท่าน และท่านถูกศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตและถอดบรรดาศักดิ์จากคุณหลวงเป็นคนธรรมดา นายสอ เศรษฐบุตร ใน พ.ศ. 2476

ในช่วงแรกท่านถูกจองจำที่คุกบางขวาง ในขณะนั้นท่านอายุเพียงสามสิบปีท่านจึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพราะต้องถูกจำคุกเป็นเวลานาน และท่านไม่อยากให้มารดาเดือดร้อน จึงจำเป็นต้องหารายได้ ท่านจึงคิดแปลดิกชันนารีเพื่อขายให้สำนักพิมพ์ ซึ่งท่านก็ได้วัตถุดิบจากหนังสือต่างๆ นอกเหนือจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษ เช่น หนังสือพรรณไม้ ตำราอาหาร เพื่อให้พจนานุกรมที่ท่านแปลมีประโยชน์ต่อผู้อ่านที่สุด ซึ่งก็มีเพื่อนๆ หลายคนที่เป็นนักโทษในเรือนจำช่วยกันจัดทำ ทั้งเขียน พิสูจน์อักษร ท่านจึงมีรายได้ส่งให้มารดาใช้ทุกเดือน จากการแปลพจนานุกรมขายเป็นตอนๆ

หลังจากนั้นมีเหตุที่ทำให้คณะนักโทษการเมืองรวมถึงท่านถูกย้ายไปจองจำที่เกาะตะรุเตา ซึ่งทำให้ชีวิตท่านลำบากขึ้นไปอีก และเนื่องด้วยเป็นการนำไปทิ้งไว้ที่เกาะ จึงไม่มีการจองจำเพราะยังไงก็หนีไปไหนไม่ได้ ซึ่งในช่วงนี้ท่านก็ยังคงแปลพจนานุกรมต่อ และในช่วงที่อยู่ที่ตะรุเตานั้น มีเพื่อนนักโทษการเมืองชวนหนีจากเกาะ ท่านก็ไม่ได้ไปเพราะต้องการแปลพจนานุกรมให้เสร็จเพราะท่านแปลมาถึงตัว T แล้ว ในที่สุดท่านก็แปลได้จนสำเร็จและพจนานุกรมีจำนวนถึง 4,000 หน้า และขายวางตลาดได้ในปี พ.ศ.2483

หลังจากพ้นโทษจากการนิรโทษกรรมกลับมาท่านก็กลับมาตั้งสำันักพิมพ์ รวมถึงเล่นการเมืองซึ่งได้เป็น ส.ส. และได้เป็นถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และท่่านถึงแก่กรรมในปี 2513 รวมอายุได้ 66 ปี

พอได้อ่านประวัติของท่านแล้วก็นับถือความตั้งใจและความพยายามของท่านมาก เรียกว่าคุกสามารถขังคนได้แต่ไ่ม่สามารถขังความคิดและความตั้งใจของมนุษย์ได้ และก็นึกถึงหนังเรื่อง The Shawshanks Redemption ซึ่งพระเอก คือ แอนดี้ ดูเฟรย์ ก็ติดคุกโดยไม่ได้ผิด และเขาก็ใช้เวลาที่มีอยู่ทำหลายๆ อย่าง รวมถึงสร้างห้องสมุดและขุดกำแพงหนี รวมเวลาที่ติดคุก 20 ปี อย่างที่ประโยคนึงที่เรดซึ่งเป็นเพื่อนของแอนดี้บอกไว้ว่า ในคุกนักโทษมักจะหาอะไรทำเพื่อให้เวลามันผ่านไปเรื่อยๆ

ความพยายามของสอ เสถบุตร เป็นความพยายามที่น่านับถืออย่างมาก แม้ว่าส่วนหนึ่งท่านจะทำเพื่อเลี้ยงชีพแต่ว่าท่านมีความรักในสิ่งที่ทำอย่างมาก เพราะการแปลพจนานุกรมที่มีศัพท์เป็นหมื่นๆ คำ พันๆ หน้า รวมถึงท่านต้องการแทรกเนื้อหาที่สำคัญอื่นๆ เพื่อเป็นความรู้แก่ผู้อ่าน ในสภาพที่ถูกจองจำนั้น มีความลำบากทางกายและใจ มันเป็นสิ่งคนที่มีความตั้งใจจริงและเข้มแข็งเท่านั้นที่สามารถทำได้ และการที่ท่านแปลพจนานุกรมให้คนไทยได้ใช้กันนั้น มันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่คนหลายหมื่นหลายแสนคนได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ อย่างน้อยก็จากคำศัพท์คำแรกที่ต้องเป็นหาคำแปลจากพจนานุกรม


“คุกขังคนได้ แต่ขังความคิดไม่ได้”--- อิศรา อมันตกุล

(เขียนเมื่อ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๙)

No comments:

Post a Comment