Thursday, February 12, 2009

ทฤษฎี

พอพูดถึงทฤษฎี เราก็มักจะนึกถึงเรื่องที่เป็นเชิงวิชาการอะไรเทือกนั้น
ซึ่งมันก็คงจะจริง แต่สำหรับผม ทฤษฎีมันเป็นคำๆ นึงที่ใช้บ่งบอกถึงความคิดและความเชื่อของแต่ละคนต่อเรื่องราวต่างๆ

ผมว่าคนเราแต่ละคนก็มีทฤษฎีของแต่ละคน และมันได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากประสบการณ์และสิ่งที่เราเรียนรู้

ผมก็ลองคิดดูอยู่หลายๆ ครั้งว่าทำไมบางทีคนเราเถียงกันจะเป็นจะตายกับเรื่องๆ นึง หรือมันจะเป็นไปได้่ว่าเรื่องบางเรื่องหรือบางคำถาม มีคำตอบหลายคำตอบที่ถูกเหมือนกัน ซึ่งผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้
แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้ก็คือ ทฤษฎี ที่แต่ละคนยึดติดมันเป็นกรอบ หรือกรงที่ขังเราไว้ และชักนำให้เราคิดไปตามแบบแผนของทฤษฎีที่ตั้งเอาไว้

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนได้คุยกับอาจารย์ เรื่อง เกี่ยวกับที่จะทำวิจัย (ต้องส่งงานหนึ่งชิ้นช่วงซัมเมอร์) ผมก็พยายามที่จะเสนอไอเดียเกี่ยวกับงานวิจัย คือ ก็ได้เคยเสนออาจารย์ไปหลายครั้งแล้ว แต่อาจารย์ก็ให้กลับไปคิดมาใหม่โดยดูจากโมเดลที่เป็นพื้นฐานที่สุดก่อน ไอ้เราก็พอได้อ่านงานวิจัยหลายๆชิ้น ก็ไอเดียบรรเจิด พยายามสร้างโมเดลจากทฤษฎีหรือ Tools ที่เรียน ก็เสนอไปสองสามครั้ง แต่ละครั้งใช้เครื่องมือ หรือทฤษฎีต่างกัน จนพอได้คุยกันอีกทีอาจารย์แกก็ยกปัญหาง่ายๆ ขึ้นมา... ผมตอบไม่ได้

ก็กลับบ้านมาคิด คิดไปคิดมา ก็ได้รู้ว่าเรานี่มันอ่อนหัดจริงๆ ยังไม่เข้าใจพื้นฐานของปัญหา ก็พยายามเอาทฤษฎีหรือเครื่องมือ มาจับยัดเข้าไปให้มันอธิบายให้ได้ ก็เลยเมล์ไปบอกอาจารย์ว่าเข้าใจในสิ่งที่แกพยายามจะบอก และก็ขอโทษที่ทำให้เสียเวลาไปหลายๆ ครั้ง แกก็ตอบมาว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะมีตัวอย่างที่เห็นทั่วไป อาจารย์บางคนก็ยังมีความคิดผิดๆ อย่างนี้ และแำกก็ยกประโยคหนึ่งขึ้นมาว่า “For 5 years old boy with a hammer, the world looks like a nail.”

ผมอ่านแล้วก็เข้าใจทันที มันก็เหมือนคนเรา พอเรายึดติดหรือเชื่อมั่นกับแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง พอมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ก็มักเอาทฤษฎีของตัวเองมาอธิบายและคิดว่านี่แหละคือคำตอบ จำได้ว่าเคยอ่านหนังสือของคุณประภาส ชลศรานนท์ ผมก็จำได้ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ เรื่อง มันมีอยู่ว่า มีคนเขียนจดหมายมาถามว่าทำไมหนังสือส่วนใหญ่ ถัดจากหน้าปกต้องเป็นกระดาษเปล่า ผมก็จำเนื้อหาของเรื่องไม่ได้เหมือนกัน

แต่ก็ลองคิดดูเล่นๆ ว่า ถ้าเราเอาคำถามนี้ไปถามหลายๆ คนก็คงไ้ด้คำตอบต่างกัน เช่น ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์ก็อาจบอกว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหนังสือ แต่ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์อีกคนก็อาจตอบว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยใช่เหตุ มีกระดาษเปล่าหรือไม่มีก็ขายราคาเท่าเดิมได้ ถ้าลองไปถามนักการตลาดก็อาจบอกว่า มีการทำวิจัยมาแล้วว่านักอ่านส่วนใหญ่เห็นว่าควรมีหน้าเปล่าเราก็เลยต้องมีเพื่อเอาใจลูกค้า ถ้าถามเด็ก ป.สาม ก็อาจบอกว่าเอาไว้เขียนชื่อ ไม่งั้นเพื่อนขโมย หรือถ้าถามนักสิ่งแวดล้อมก็อาจบอกว่า มันมีแล้วดูดีนะ แต่คุณรู้หรือเปล่าว่าต้นไม้ต้องหมดไปกี่ต้นกับการที่คุณเพิ่มกระดาษเข้าไปอีกแผ่น หรือถ้าถามผมก็อาจตอบแบบเท่ห์ๆ ว่า เอาไว้ทำใจให้ว่างก่อนเปิดหน้าต่อไป เพื่อจะไ้ด้ซึมซับเนื้อหาในหนังสือได้เต็มที่

มันก็นานาจิตตังนะ แต่ว่า คนที่คิดเอากระดาษเปล่าไว้หลังจากปกหนังสือคนแรก ก็คงมีเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจไม่มีเหตุผลเลยก็ได้ อาทิเช่นกระดาษมันเหลือก็เลยใส่เข้าไป แต่คนเราเมื่อมองอะไรบางอย่างก็มักจะเข้าข้างตัวเอง เข้าข้างอัตตาของตัวเอง จนบางที่เราอาจไม่สามารถมองปัญหานั้นอย่างทะลุปรุโปร่งได้ และที่สำคัญเวลาเรามองอะไรด้วยทฤษฎีมากเกินไป เราก็ใช้งาน “ใจ” ของเราน้อยลงไปมากเท่านั้น

ก็รู้ึสึกเหมือนกันเวลาพยายามเอาเหตุผลไปจับ เรื่องราวต่างๆ และก็คิดว่าเหตุผลนั้นมันอธิบายเรื่องราวนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ต้องเป็นคำตอบที่ถูกต้องแ่น่ แต่บางทีพอรู้สึกตัวก็รู้สึกว่่ามันขัดกับ “ใจ” เราเหลือเกิน

ว่าแล้วก็ยกประโยคจากหนังที่ซื้อมานานแล้ว แต่พึ่งได้ดูเมื่อกี้ เรื่อง “Infinity” เรื่องของริชาร์ด เฟยน์แมน นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ที่ภรรยาของเขาเป็นโรคและมีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่เจ็ดปีหลังจากแต่งงานกัน อันที่จริงเขารู้มาก่อนแต่งงานแล้วว่าภรรยาจะอยู่ได้อีกไม่นาน แต่เขาก็ตัดสินใจแต่ง หลังจากที่ภรรยาเสียชีวิต น้องสาวก็ถามประมาณว่าไม่เสียใจเหรอที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันไม่นาน เฟยน์แมนก็ตอบอย่างนักฟิสิกส์ว่ามันเป็นแค่เรื่องของปริมาณ (Quantity) ที่ต่างกันเท่านั้น คือแทนที่เขากับภรรยาจะอยู่ด้วยกันห้าสิบปี กลับได้อยู่ด้วยกันแค่เจ็ดปี แต่ว่าเขากับภรรยาก็มีช่วงเวลาที่ดี ที่มีความสุขด้วยกัน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่สำคัญมากกว่าปริมาณของเวลาที่ใช้ร่วมกัน

อ่านแล้วงงเนอะเริ่มต้นด้วยทฤษฎี จนมาจบลงท้ายด้วย “หัวใจ”

(เขียนเมื่อ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙)

No comments:

Post a Comment