Thursday, February 12, 2009

ความเจริญ

เวลาอายุมากขึ้น คนเราก็มักจะสังเกตเห็นอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงไปในช่วงชีวิตเราได้อย่างชัดเจนขึ้น ทั้งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างเช่น หลานที่เราเคยเห็นตั้งแต่มันยังอายุไม่กีเดือน ตอนนี้มันก็โตจนเลียตูดหมาไม่ถึง เอ้ยไม่ใช่ หมาเลียตูดไม่ถึง

หลายคนคงจะเคยได้ยินเกี่ยวกับตลาดดอนหวาย แต่คิดว่าส่วนใหญ่ก็อาจจะได้ยินมาไม่นานนี้ ไม่เกินสี่ห้าปี
สำหรับผม ผมรู้จักตลาดดอนหวาย ตั้งแต่ที่จำความได้ ก็ประมาณยี่สิบกว่าปีได้แล้วมั้ง (แก่แล้วอ่ะ) เพราะว่าอี๊ (พี่สาวของแม่) เปิดร้านโชวห่วยอยู่ที่นั่น) ปีนึงก็ไปเยี่ยมประมาณสี่ห้าครั้ง แต่พอโตขึ้นก็เหลือปีละสองสามครั้ง ไม่ค่อยได้ว่างไปเท่าไหร่

ตลาดดอนหวายก็เหมือนกับตลาดสมัยก่อนทั่วๆ ไป ก็คือมันก็ไม่ถือว่าคึกคัก แต่ก็มีร้านค้าเปิดอยู่หลายร้านพอสมควร ร้านขายของกินก็มีบ้าง เช่น ร้านขายขนมไทย ร้านกาแฟ (ซึ่งเวลาไปเยี่ยมป้าก็จะสั่งโอเลี้ยงกินประจำ เรียกได้ว่าเป็นกาแฟโบราณจริงๆ) ร้านขายเป็ดพะโล้ ร้านขายพวกขนมหวานของจีน พวกขนมเปี๊ยะ เปลือกส้มโอหวาน ร้านขายผัก นอกนั้นก็เป็นพวกร้านโชวห่วย และก็มีบางบ้านที่ไม่ได้ขายของก็เป็นบ้านอยู่อาศัยปกติ

ระหว่างทางไปตลาดดอนหวายก็เป็นถนนเล็กๆ (ปัจจุบันก็ยังเล็กอยู่แต่ปริมาณรถเยอะขึ้น) ตามทางก็จะเป็นสวนส้มโอ ถ้าขับลึกเข้าไปอีกหน่อยก็จะไปถึงวัดไร่ขิงได้

แต่ก่อนตลาดดอนหวายเงียบมากๆ คนก็ไม่ค่อยมีเยอะ การค้าการขายก็จะมีเฉพาะของคนในละแวกเดียวกัน ถ้าจะมีขาจรมาบ้างก็มาซื้อเป็ดพะโล้เพราะก็มีชื่อมานานแล้ว ที่สำคัญเวลาไปเยี่ยมอี๊ก็จะชอบไปเกาะหน้าต่างและก็ดูแม่น้ำท่าจีน เพราะบ้านอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน เวลาเอาข้าวสวยไปโยนลงน้ำก็จะมีปลาขึ้นมากินเต็มไปหมด โดยเฉพาะปลาแขยง ซึ่งหน้าตาเหมือนปลาดุก อากาศดี น้ำก็ใส และก็เย็นตลอดทั้งปี แต่บางปีก็มีน้ำท่วมบ้าง

แต่พอมาสี่ห้าปีให้หลังตลาดดอนหวายก็เปลี่ยนไปมาก คาดว่าตั้งแต่มีรายการทีวีนำไปออก มีละครมาถ่าย ทำให้คนรู้จักมากขึ้น และที่สำคัญมันอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ทำให้คนในกรุงเทพมาเที่ยวมากขึ้น พอคนเริ่มมาเที่ยวมากขึ้้น ก็เริ่มมีของต่างๆ มาขายมากขึ้น ทั้งจากของคนในละแวกนั้นเอง และคนจากที่อื่น

ตอนแรกที่เห็นความเปลี่ยนแปลง ก็ตกใจมาก เพราะไปตอนเสาร์อาทิตย์ รถติดยาวเป็นแพ ที่จอดรถก็รถเต็มแน่นไปหมด ทางที่จะเดินเข้าไปบ้านอี๊ก็เต็มไปด้วยร้านค้า และคนเบียดเสียดกันเต็มไปหมด

ตอนนี้ทุกพื้นที่ว่างเป็นเงินเป็นทองไปหมด เรียกว่ามีที่่ว่างตรงไหนก็ตั้งร้านขายของกันไปหมด มีของขายสารพัด โดยเฉพาะของกิน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นของกินจากที่อื่นไม่ค่่อยมีที่เป็นของในละแวกนั้นเท่าไหร่ มีของที่่ดังอยู่แล้วก็คือเป็ดพะโล้ ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายเจ้า เรียกว่าอยากกินอะไรก็มีหมด

ตอนนี้ถ้าจะเรียกว่าตลาดโบราณมันก็คงจะไม่ได้แล้วเพราะมีของขายสารพัด แผ่น mp3 VCD DVD ก็มีขายเต็มไปหมด มีบริการล่องเรือชมแม่น้ำำท่าจีน มีร้านอาหารเต็มไปหมด เรียกว่าเหมือนเป็นตลาดนัดที่มาตั้งอยู่ในตลาดโบราณมากกว่า

ถ้าให้ถามว่าชอบไหม มันก็ดี ของกินเยอะดี และอย่างน้อยก็เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับทั้งคนในละแวกนั้น และคนอื่นที่มาเปิดร้าน แต่เสน่ห์ของความเป็นตลาดเก่า ความงามอย่างเย็นๆ สงบๆ ก็หมดไปด้วย ถ้าจะให้ดีควรไปวันธรรมดา จะดูสบายๆ มากกว่า ของขายไม่เยอะ คนไม่เยอะเท่าไหร่ ถ้าไปวันเสาร์อาทิตย์ ก็เหมือนไปแย่งกันกินแย่งกันขายยังไงไม่รู้

มันก็เป็นเรื่องปกติของการพัฒนา ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไ้ด้อย่างหนึ่งก็เสียอย่างหนึ่ง แต่ผมไม่่รู้ว่าการพัฒนาแบบที่เห็นๆ มันจะยั่งยืนหรือไม่ เหมือนที่เราเห็นจากสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในเมืองไทย ทั้งที่ตอนแรกเสนห์ที่ดึงดูดให้คนไปเที่ยว มันคือความเงียบสงบ ความสวยงามของธรรมชาติ ความแปลกตาของวิถีชีวิต แบบโบราณที่เราไม่ได้ให้ในชีวิตประจำวัน แต่ว่าพอความเจริญเข้าไปเยอะ ความสงบก็หาย ความสวยงามก็แปรเปลี่ยนไป วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมก็ถูกเปลี่ยนโดยไม่รู้ตัว

อันที่จริงควรจะมีการช่วยกันกำหนดทิศทางในการพัฒนา ทั้งจากส่วนกลางและชุมชนช่วยกันพัฒนาให้มีความยั่งยืน ไม่ใช่ว่าเมื่อมีโอกาสในการสร้างกำไรก็ต่างพากันใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่คำนึงถึงผลระยะยาว

ถ้าจะให้เปรียบตลาดดอนหวายกับผู้หญิง ผมว่าแต่ก่อนเธอก็เป็นผู้หญิงที่มีเสนห์ เงียบๆ เย็นๆ แต่สามารถเข้าใจ และเข้าถึงได้อย่างไม่ยากเย็น แม้จะไม่มีคนมาสนใจแต่ก็มีคุณค่าในตัวเอง แต่ว่าปัจจุบันนี้ผมว่าเธอแต่งหน้าหนาขึ้นจนไม่รู้ว่าหน้าตาที่แท้จริงเป็นยังไง หน้าตาอาจสวยเด่นขึ้น มีคนมาสนใจมากขึ้น แต่ก็ใจร้อนขึ้น และเสแสร้งมากขึ้น จนคนอื่นไม่รู้ว่านิสัยที่แท้จริงของเธอเป็นอย่างไร และที่สำคัญเธออาจลืมไปว่าเสน่ห์ของเธอแบบที่เธอเป็นคืออะไร

ถ้าถามผมว่าชอบเธอในแบบไหนมากกว่ากัน คงตอบได้อย่างไม่ต้องคิดว่า ชอบเธอที่เป็นเธอ แบบไม่ต้องแต่งแต้มอะไรมากกว่า

(เขียนเมื่อ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๙)

No comments:

Post a Comment