Thursday, February 12, 2009

คำถามจากเด็ก ม.สอง

เมื่อหลายวันก่อนได้ไปกินอาหารจีนกับเพื่อน
เป็นร้านที่เคยไปกินหลายครั้งแล้วเหมือนกัน รสชาติใช้ได้
แต่ก็แยกไม่ออกเหมือนกันว่ามันเป็นอาหารจีนแบบไหน บางร้านก็เป็นจีนไ้ต้หวัน บางร้านก็จีนแผ่นดินใหญ่ เอาเป็นว่าร้านไหนอร่อยก็กินได้หมด

ตอนสั่งก็สั่งไปหลายอย่าง ก็เหลือจานสุดท้ายที่ว่าจะเป็นผัดผัก ก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะเอาผักอะไร เจ๊คนที่คนรับออเดอร์คงจะทนไม่ไหว ก็เลยถามว่าคนไทยหรือเปล่า (ถามแบบปกตินะ ไม่ใช่ถามแบบพี่แอ๊ด คาราบาว ไม่งั้นเดี๋ยวได้กินเบียร์ช้างกันแน่) แกก็เลยบอก “ผักบุ้ง” ป่าว แกพูดไทยได้นะเนี่ย เพราะคงมีคนไทยมากินกันบ่อย เราก็เลยตกลงกันว่าเอาผักบุ้ง

พออาหารมาครบหมดก็เริ่มกิน ปรากฎว่าผัดผักบุ้งเยอะมาก สงสัยคงมีเก็บสต๊อกไว้เยอะ เพื่อนคนนึงก็เลยบอกว่ากินเยอะๆ ตาจะได้สวย เลยคุยกับพี่คนนึงที่ไปด้วย แกเป็นหมอ ก็เลยถามว่าอืมม แปลกนะผักบุ้งมีวิตะมินเอด้วย ทั้งที่มันสีเขียว เพราะเราก็เรียนมาตั้งแต่เด็กว่าวิตะมินเอมีอยู่ในผักผลไม้ที่มีสีเหลือง ซึ่งมีสารเบตาแคโรทีน

จากเรื่องผักบุ้งก็เลยนึกถึงเรื่องเก่าๆ สมัย ม.สอง เพราะเกี่ยวกับคำถามประมาณนี้เหมือนกัน
แต่พอนึกถึงเรื่องเก่าๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถ้าเป็นในละครก็ต้องทำเป็นสีขาวดำ สงสัยเพราะทำเป็นภาพสีมันคงจะไม่เหมือนความหลัง แปลกดี ผมก็บอกไม่ได้ว่าเวลาคิดถึุงความหลัง ความหลังมันมีสีอะไร เวลาฝันก็เหมือนกันไม่รู้ว่าความฝันมันสีอะไร ไว้วันหลังเวลานอนต้องลองตั้งใจสังเกตดูว่าความฝันมันมีสีหรือเปล่า

เรื่องมันมีอยู่ว่าในชั่วโมงวิทยาศาสตร์ คิดว่าก็คงเรียนเกี่ยวกับพวกวิตะมินอะไรประมาณนี้นี่แหละ ก็เรียนไปถึงวิตะมินเอ ซึ่งครูก็บอกว่ามันมีอยู่ในผักผลไม้ที่มีสีเหลือง
ก็มีเพื่อนคนนึงยกมือถามขึ้นมาว่า “ถ้าผักที่มันเหี่ยวแล้วมันมีสีเหลือง มันจะมีวิตะมินเอหรือเปล่า”
ปรากฎว่าได้ยินคำตอบที่ยินจากครูเป็นคำตอบที่ไม่น่าฟังเลย เพราะแกพูดประมาณว่า ถามคำถามไ้ร้สาระ
เรื่องนี้ผมจำได้แ่ม่น ซึ่งก็คิดว่าไอ้เพื่อนคนที่ถามมันอาจจำไม่ได้แล้วล่ะ

ผมคิดว่าถ้าครูไม่รู้คำตอบก็น่าจะบอกว่าให้นักเรียนลองไปหาคำตอบดู หรือครูไปหาคำตอบมาตอบให้นักเรียน เพราะผมคิดว่ามันเป็นคำถามที่น่าสนใจทีเดียว ใครจะไปรู้ว่าคลอโรฟิลล์ในผักใบเขียว พอมันเหี่ยว (แก่) มันอาจเปลี่ยนไปเป็นเบตาแคโรทีนที่อุดมไปด้วยวิตะมินเอก็ได้

คำถามบางคำถามในใจของเด็กๆ มันเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งต่างๆ ยิ่งใหญ่ที่ทำให้เกิดแนวคิดและสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญของโลก ไม่แน่ถ้าเพื่อนผมมันได้รับคำตอบดีๆ จากคำถามนั้น มันอาจอยากเป็นหมอหรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ (นั่นสิมันเลยเรียนวิศวะ)

อย่างเรื่องของริชาร์ด เฟย์แมน นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล พ่อของแกเป็นคนที่สอนให้แกคิดเชิงวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก อย่างเช่นมีเรื่องนึงที่พ่อของแกสอนเกี่ยวกับเรื่องของนกว่า ไม่ต้องไปใส่ใจมากว่านกตัวนี้มันมีชื่อว่าอะไร เพราะว่ามันก็มีชื่อเรียกต่างๆ กันไปตามภาษา แล้วแต่คนจะเรียก แต่ว่าให้สังเกตลักษณะ พฤติกรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของมัน นั่นจึงเป็นการเีรียนรู้ที่จริง

ก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะว่าร้ายคุณครู เพราะจะดีจะร้าย ครูก็เป็นผู้มีพระคุณเสมอ แต่บางทีแกอาจไม่ได้นึกถึงว่าหน้าที่ของครูนั้นมันยิ่งใหญ่เพียงใด ในการปลูกความคิดและแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ แต่มันก็ให้บทเรียนสำหรับผมว่าถ้าได้มีโอกาสได้ตอบคำถามของเด็กๆ คงจะต้องตอบอย่างรอบคอบและตอบให้ดีที่สุดเพราะว่ามันอาจเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ต่อเติมความฝันและสร้างจินตนาการให้กับเด็กๆ ก็ได้

(เขียนเมื่อ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๙)

No comments:

Post a Comment