Thursday, February 12, 2009

New Limits to Growth

ได้อ่านบทความจาก The Wall Street Journal เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2551 เรื่อง New Limits to Growth: Revive Malthusian Fears เห็นว่ามันน่าสนใจดีก็เลยเอามาลงในบล๊อก

มีเนื้อหาที่บทความนี้อ้างถึงสองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ ทฤษฎีของ Thomas Robert Malthus ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์และประชากรศาสตร์ชาวอังกฤษ มีชีวิตอยู่ช่วงปี ค.ศ. 1976-1834 Malthus เป็นที่รู้จักจากทฤษฎีด้านประชากรที่เรียกว่า Malthusian catastrophe โดยย่อ ทฤษฎีนี้กล่าวว่า “ทรัพยากรต่างของโลกจะไม่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรได้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของทรัพยากร เช่น อาหาร จะเพิ่มแบบ Arithmetic (1+2+3...) ในขณะประชากรเพิ่มขึ้นแบบ Geometric (2x3x2… ลองคิดถึงดอกเบี้ยแบบทบต้น) ซึ่งในวันหนึ่งทรัพยากรก็จะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ และเป็นความหายนะ”

ส่วนอีกบทความหนึ่งที่มีการอ้างอิงก็คือ The Limits of Growth ซึ่งจัดทำโดย The Club of Rome ในปี 1972 ผมเคยซื้อไว้เล่มหนึ่งตอนไปตรวจน้ำมันที่ชลบุรีเมื่อสี่ห้าปีก่อน เจอในแผงขายหนังสือมือสองในตลาดนัด เป็นพ๊อกเกตบุ๊คเล่มเล็กๆ (อ่านเนื้อหาย่อๆ ได้ที่ http://www.clubofrome.org/docs/limits.rtf ) หนังสือพยายามบอกว่าถ้าเราคงอัตราการใช้ทรัพยากร การเพิ่มประชากร ในระดับปัจจุบัน (เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน) เราจะพบกับข้อจำกัดในศตวรรษข้างหน้าเนื่องจากทรัพยากรจะถูกใช้จนหมด

ส่วนแรกผมจะกล่าวโดยสรุปถึงเนื้อหาในบทความจาก WSJ ข้างต้น และจะแสดงความเห็นจากบทความนี้ในส่วนหลัง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

บทความกล่าวว่าในปัจจุบันประชากรของโลกซึ่งมีอยู่ประมาณ 6.6 พันล้านคน จะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคนในปี ค.ศ.2025 และประชากรในโลกก็มีอายุยืนขึ้นเรื่อยๆ จากเทคโนโลยีโดยอายุขัยของคนในประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ประมาณ 80 ปี จากการที่คนเกิดเพิ่มขึ้นและมีชีวิตอยู่ยาวนานขึ้น ทำให้ความต้องการทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งทำให้มีการหันกลับมามองแนวคิดของ Malthus และ Club of Rome อีกครั้ง

ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ ราคาน้ำมันและอาหาร รวมถึงสินค้าอื่นๆ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แม้ว่ากลไกราคาจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดสรรทรัพยากร เมื่อสินค้าชนิดใดเกิดการขาดแคลน ราคาสินค้าชนิดนั้นจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผลดังกล่าวทำให้อุปสงค์ลดลงและกระตุ้นให้ิเกิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าชนิดนั้นๆ อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยข้อจำกัดทางการเมืองทำให้เราไม่สามารถตั้งราคาทรัพยากรทุกอย่างได้ ตามคุณค่าที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐและจีน รัฐไม่สามารถตั้งราคาน้ำเพื่อกระตุ้นการใช้ที่มีประสิทธิภาพได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรซึ่งใช้น้ำในราคาที่ต่ำมาก

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ หลายประเทศแทนที่จะบริหารจัดการเพื่อใช้ทรัพยากรของตนที่มีอยู่อย่างจำกัด กลับเน้นหนักไปที่การแย่งชิงทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่น จีนมีหลายโครงการพัฒนาในอาฟริกาเพื่อเป็นลู่ทางในการเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้ น้ำมันและทรัพยากรอื่นๆ (มุมมองของเจ้าหน้าที่สหรัฐ) อินเดียซึ่งครั้งหนึ่งสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่า แต่ในตอนนี้มีข้อตกลงทางการค้าหลายอย่างกับพม่า รวมทั้งสหรัฐและประเทศในยุโรป ซึ่งพยายามเข้าไปในประเทศเอเชียกลางซึ่งมีก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล

ทรัพยากรน้ำก็เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากราคาน้ำไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่นในสหรัฐเกษตรกรซึ่งใช้น้ำ 65% ของทรัพยากรทั้งหมดในประเทศ จ่ายค่าน้ำในราคาที่ต่ำมากใกล้ๆ ศูนย์ นอกจากนั้น Climate Change ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ในโลก การทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืดก็ยังมีต้นทุนสูงและใช้พลังงานมาก ในสหรัฐ ที่หลายรัฐมีข้อพิพาทด้านทรัพยากรน้ำ การต่อสู้เพื่อแย่งสิทธิ์การใช้น้ำในอินเดีย และอาฟริกา ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าสงครามกลางเมืองในอาฟริกามีความเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝนที่ลดลง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งก็คือการเติบโตของการใช้รถยนต์ในประเทศจีนและิอินเดีย ในปี 2005 จากประชากร 1,000 คนของจีนจะมีรถ 15 คัน ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับญี่ปุ่นในปี 1963 คือ 13 คัน ในขณะที่ปัจจุบันในญี่ปุ่น ประชากร 1,000 คนจะมีรถ 447 คัน ถ้าจีนอยู่ในระดับนั้นจะมีรถอยู่ 572 คัน (เทียบกับปริมาณรถในโลก ณ ปัจจุบันที่ 70 ล้านคัน) ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะหาน้ำมันจากไหนให้พอ ซึ่งปัจจุบันบริโภคน้ำมันอยู่ที่ 7.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่สหรัฐซึ่งมีประชากรน้อยกว่า 1 ใน 4 ของจีนมีการใช้น้ำมันอยู่ที่ 20.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน


การเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการก็ก่อให้เกิดปัญหาเช่นกัน การเพิ่มขึ้นของการบริโภคเนื้อสัตว์ของประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ความต้องการและราคาของธัญพืชเพิ่มสูงขึ้น มีการประมาณว่าต้องใช้ธัญพืช 10 ปอนด์ในการเปลี่ยนเป็นเนื้อหมู 1 ปอนด์ และถ้าเป็นเนื้อวัวสัดส่วนจะเพิ่มกว่าสองเท่า จากการสำรวจของ U.N. พบว่าตั้งแต่ปี 1990 คนจีนบริโภคหมูและเนื้อสัตว์อื่นๆ เพิ่มขี้นกว่าสองเท่า ถ้ารวมไต้หวันไปด้วยการบริโภคหมูต่อปีจะสูงถึง 11 พันล้านปอนด์ เทียบเท่ากับที่คนอเมริกันบริโภคใน 6-7 เดือน

ทางออกในการแก้ปัญหาทรัพยากรที่จำกัดอาจสามารถบรรเทาได้โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค การพัฒนาเทคโนโลยี และการตั้งราคาทรัพยากรที่เหมาะสม

จากบทความดังกล่าวผมมีข้อสังเกตย่อๆ จากความรู้สึกของผมประชากรของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอาจมีอคติบ้าง ดังนี้

ผมเห็นด้วยกับข้อเท็จจริงที่บทความนี้กล่าวถึง เรื่องที่ทรัพยากรอาจไม่สามารถรองรับความต้องการในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม โทนของบทความดังกล่าวเหมือนจะชี้ให้เห็นว่าถ้าประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจีนกับอินเดียยกระดับความเป็นอยู่และใช้ทรัพยากรในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว โลกจะประสบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรอย่างรุนแรง

คำถามที่เกิดขึ้นในใจผมคือ ทำไมจึงจะเกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรเมื่อประเทศกำลังพัฒนาบริโภคในระดับเดียวกันกับประเทศพัฒนาแล้ว หรือว่าประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้บริโภคมากเกินไปเมื่อเทียบกับส่วนแบ่งทรัพยากรในโลก สหรัฐมีประชากรประมาณ 5% ของโลก แต่บริโภคน้ำมัน 25% ของความต้องการในโลก (แต่่ว่าคนจีนกินหมูมากขึ้นก็สร้างปัญหาให้โลกได้ หรือคนอินเดียจะใช้รถมากขึ้นก็เหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม)

ปัญหาที่เกิดเป็นเพราะบรรทัดฐานของประเทศพัฒนาแล้วสืบเนื่องมาตั้งแต่ลัทธิล่าอาณานิคม คนในประเทศเหล่านี้บริโภคมากเกินไป และบริโภคทรัพยากรของประเทศอื่นๆ ไปด้วย ประเทศในยุโรปขุดถ่านหินขึ้นมาเผาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาใช้ฟืนและไม้ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อย CO2 สุทธิเท่ากับศูนย์

ประเทศพัฒนาแล้วนั่นแหละควรจะลดความต้องการการใช้ทรัพยากรลง
แม้ราคาจะเป็นสิ่งที่สะท้อนมูลค่าทางเศรษฐกิจของทรัพยากร แต่เราก็ไม่สามารถตั้งราคาทุกอย่างได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ในอนาคตเราอาจต้องซื้อออกซิเจนเพื่อหายใจ

(เขียนเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๑)

No comments:

Post a Comment