Thursday, February 12, 2009

Structural change, Greedy and Vegetarian

บล๊อกคราวนี้ก็เป็นเรื่องผสมปนเปกันไปสองสามเรื่อง ก็คงจะแยกได้เป็นสามภาค ที่เกี่ยวข้องกันบ้างไม่เกี่ยวข้องกันบ้าง

ภาคหนึ่ง: ว่าด้วย Structural Change
เมื่อสัปดาห์ก่อนได้เข้าไปนั่งฟังเลคเชอร์ในชั่วโมงเรียนวิชา Options ที่ผมเป็น grader อยู่ อาจารย์ก็ได้พูดถึงเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ โดยเกริ่นเรื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และก็พูดถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งน่าสนใจ
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเบื้องต้นยังอยู่ในรูปแบบที่ยังไม่ถึงขั้น Working paper เสียด้วยซ้ำ ซึ่งผมก็ได้ copy มาจากอาจารย์แต่ลองหาดูในอินเตอร์เนทก็ยังไม่พบ คาดว่าคงยังไม่เผยแพร่ให้วิจารณ์กันในวงกว้างเท่าไหร่ ถ้ามีเวอร์ชั่นที่เผยแพร่เมื่อไหร่จะเอามาโพสต์ไว้อีกที
ประเด็นที่งานชิ้นนี้กล่าวถึงก็คือว่า ในปี 2005 ในประเทศสหรัฐฯ มีการผ่านกฏหมาย Bankruptcy Abuse Reform 2005 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลในส่วนของบัตรเครดิตและการผ่อนรถยนต์ การแก้ไขกฏหมายฉบับนี้ทำให้การ “เบี้ยว” (Default) หนี้บัตรเครดิตและรถยนต์ทำได้ยากขึ้น
แม้ว่าสาเหตุหลักของการเบี้ยวหนี้อสังหาฯ ในสหรัฐเกิดจากราคาบ้านที่ตกต่ำ (เมื่อคนผ่อนบ้านพบว่ากำลังจ่ายราคาบ้านที่สูงกว่ามูลค่าจริง ก็เลยเบี้ยวหนี้) ผู้วิจัยก็ได้ตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลว่า หลังจากที่ได้มีการแก้กฎหมายฉบับนี้แล้ว เกิดการเบี้ยวหนี้จากการผ่อนบ้าน (mortgage) มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่ก่อนการแก้กฎหมายคนส่วนใหญ่จะเบี้ยวหนี้เครดิตการ์ดและรถยนต์เป็นอย่างแรก เพราะมีกระบวนการประนอมหนี้ที่เบากว่าการเบี้ยวหนี้ผ่อนบ้าน
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการแก้กฎหมายนี้ อาจเป็นสิ่งที่ทางฝ่ายสถาบันการเงินคาดไม่ถึงเหมือนกัน และอาจารย์ก็ได้เล่าต่ออีกว่า เป็นเรื่องน่าขันเพราะสถาบันการเงินต่างๆ ที่ประสบปัญหาหนี้อสังหาริมทรัพย์อยู่ในขณะนี้เป็นฝ่ายที่วิ่งเต้นให้มีการแก้กฎหมายดังกล่าว
จากงานวิจัยดังกล่าวทำให้เห็นว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวมีผลอย่างมีนัยสำคัญของการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือได้ว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ซึ่งหากพวกสถาบันการเงินต่างๆ ไม่รู้หรือไม่ได้นำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ความน่าจะเป็นที่ลูกค้าจะเบี้ยวหนี้อสังหาฯ ไปอัพเดทแบบจำลองทางการเงิน (Financial model) ที่ใช้อยู่ ผลที่ออกมาก็จะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้ ซึ่งเกิดผลเสียชัดเจนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นี่ก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำคัญของการพิจารณาเชิงโครงสร้างในทางเศรษฐศาสตร์อย่างที่เคยกล่าวไว้แล้วในบทความเรื่อง “Structural model สำคัญอย่างไรในการสร้างแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์”
ทิ้งท้ายไว้ด้วย Quote ที่น่าสนใจก็คือ “All model are wrong but some models are useful. – George E. Box, a statistician” จริงๆ แล้วแบบจำลองทุกอย่างมันผิดหมด เพราะมันไม่ใช่ของจริง แต่ว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากแบบจำลองบางส่วนได้

ภาคสอง: ว่าด้วย Greedy
เรื่องนี้ก็เกี่ยวกับภาคหนึ่งบ้าง เรื่องที่อาจารย์เล่าความเป็นมาของภาคการเงินในสหรัฐหลังวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อทศวรรษที่ 1930 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมาย The Glass-Steagall Act of 1933 ที่ห้ามสถาบันการเงินต่างๆ นำเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรหรือตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากว่าก่อนหน้านั้น ธนาคารได้นำเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และผลสืบเนื่องจากการล้มของตลาดหุ้นในปี 1929 ทำให้ธนาคารเหล่านี้ล้มละลาย และผู้ฝากเงินก็สูญเงินฝากไปด้วย ซึ่งกฎหมายที่ออกมานี้ก็รวมไปถึงการตั้ง Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) หรือบริษัทประกันเงินฝากในสหรัฐด้วย
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นมาประมาณห้าสิบปีก็มีความพยายามที่จะวิ่งเต้นในการแก้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากว่าสถาบันการเงินทั้งหลายต้องการทำธุรกรรมที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้นกว่าการรับฝากเงินและปล่อยสินเชื่อทั่วไป ซึ่งก็ใช้เวลานานหลายสิบปีในการวิ่งเต้นจนสามารถ ออกกฎหมายใหม่ในปี 1999 คือ The Gramm-Leach-Bliley Act ซึ่งอนุญาตให้ธนาคารทำธุรกรรมได้กว้างขวางขึ้นซึ่งรวมไปถึงการซื้อขาย mortgage-backed securities ที่เกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
ในส่วนของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์นั้น เดิมทีก็จะมีการคัดแต่ลูกค้าที่มีเครดิตดี แต่ว่าการเติบโตของตลาดในส่วนนั้นมันอยู่ในระดับที่ไม่สูง นักการเงินก็เริ่มหันมามองตลาดในส่วนของ sub-prime หรือกลุ่มที่มีเครดิตไม่ดี ซึ่งเป็นตลาดที่ยังไม่มีใครเข้าไปลงทุน ในช่วงแรกก็ทำกำไรให้สถาบันการเงินต่างๆ มากมาย แต่หลังจากนั้นลูกค้าในกลุ่มนี้ก็เป็นปัญหาดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
จริงๆ แล้วในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ผมก็เชื่อในการสร้างประสิทธิภาพจากระบบตลาด ซึ่งเป็นข้อดีข้อหนึ่งของระบบทุนนิยม อย่างไรก็ตามทุนนิยมที่แฝงไว้ด้วยความโลภในที่สุดมันก็จะกัดกินตัวมันเองจนหมดในที่สุด (ที่สำคัญมันเดือดร้อนภาษีของคนทั้งประเทศด้วยน่ะสิ)
ที่ได้ยินนักการเมืองในสหรัฐฯ พูดถึงการเข้มงวดในการกำกับดูแล (Regulation) สถาบันการเงินให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน มันก็เหมือนเป็นวงจรที่กลับมาสู่ระบบเดิมเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีที่แล้ว ใครว่าเมืองไทย “วัวหายแล้วล้อมคอก” ประเทศเดียวในโลก ตอนนี้วัวที่อเมริกาหายไปแล้วทีนึงหลายตัวเขาก็คิดจะล้อมคอกกันใหม่ หลังจากเปิดคอกไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน ถ้าผมมีอายุยืนไปอีกหลายสิบปีไม่รู้จะมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อยืดหยุ่นการประกอบธุรกรรมอีกหรือเปล่า

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/Glass-Steagall_Act http://en.wikipedia.org/wiki/Gramm-Leach-Bliley_Act

ภาคสาม: Vegetarian หรือ กินเจ
เรื่องนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นยืดยาวอะไรมากมาย ช่วงนี้ก็พึ่งพ้นจากเทศกาลกินเจกันไปได้ไม่นาน ผมก็ไม่ได้กินเจอะไรกับเขาหรอก เพราะไม่ได้ศรัทธาอะไร แต่ก็มีประเด็นให้คิดในมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ว่า เราพอจะกินเจกันในรูปแบบอื่นได้ไหม (ทั้งนี้ต้องออกตัวไว้ก่อนว่ามิได้มีเจตนาที่จะล่วงเกินความเชื่อส่วนบุคคลของท่านที่ศรัทธาในประเพณีนี้)
ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลกินเจที่หลายๆคนพากันหยุดการกินเนื้อสัตว์มันทำให้เกิด Shock ในตลาด ก็คือว่า ปริมาณการขายเนื้อสัตว์ลดลงฮวบฮาบ ปริมาณการขายผักเพิ่มขึ้นอย่างฮวบฮาบ และอาหารเจทั้งหลายก็ขึ้นราคาอย่างฮวบฮาบเช่นกัน แม้ว่าราคาที่จ่ายจะแสดงถึงความพึงพอใจหรือมูลค่าที่ผู้บริโภคประเมินต่อสินค้านั้น แต่ว่าการที่ต้องจ่ายราคาที่แพงกว่าปกติหลายเท่าจากช่วงเวลาปกติ มันก็ดูจะบั่นทอนกำลังจ่ายและกำลังใจของคนที่กินเจไปไม่มากก็น้อยเหมือนกัน
ถ้าเราอยากกินเจเพื่อลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตลง เราจะลองกินเจกันแบบอื่นได้ไหม ยกตัวอย่างเช่น หากทุกคนกินเจในเดือนที่ตัวเองเกิด หรือว่ากินเจทุกสัปดาห์ที่สี่ของเดือน ตลอดทั้งปี หรือว่ากินเจหนึ่งหรือสองวันต่อหนึ่งสัปดาห์ มันจะทำให้ไม่เกิด shock ในระบบ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง และข้อหนึ่งซึ่งผมคิดว่ามีสำคัญไม่น้อยกว่าการงดเนื้อสัตว์ในเทศกาลกินเจก็คือการทำใจให้บริสุทธิ์ หากว่าการกินเจเป็นการย้ำเตือนถึงการทำความดีข้อนี้ด้วย ก็ไม่จำเป็นที่ต้องทำแค่ปีละสิบวันในช่วงที่ประเพณีกำหนดไว้ ทำอาทิตย์ละวันทั้งปีก็น่าจะเป็นสิ่งที่เตือนใจให้เราเป็นคนดีได้อย่างยั่งยืนกว่า
แต่ผมก็เข้าใจครับการกินเจในช่วงเทศกาลนั้นทำให้เรามีตัวเลือกที่หลากหลาย มีคนรอบข้างที่ทำเหมือนๆ กัน และมีเรื่องของประเพณี เป็นแรงส่งให้มีกำลังศรัทธามากขึ้น แต่หากลองคิดดูว่า หากเราทุกคนลดการกินเนื้ออย่างต่อเนื่องมันจะส่งผลให้มีการลดการเลี้ยงสัตว์ในระยะยาว มากกว่าการลดการกินเนื้อแบบฮวบฮาบในช่วงสิบกว่าวัน แล้วก็กลับมาบริโภคเนื้อนในอัตราเดิม นอกจากนั้นสำหรับบางคนแล้วหลังออกเจก็กินเนื้อในอัตราที่เพิ่มขึ้นในมื้อแรกๆ ของการออกเจ เนื่องจากอดมานาน
หมายเหตุ – เรื่องศรัทธาความเชื่อนี้เป็นเรื่องที่ควรเก็บไว้ในใจ กล่าวถึงศรัทธาของตน แต่ไม่ควรกล่าวดูหมิ่นหรือลบหลู่แนวคิดของคนอื่น ได้อ่านเจอในหลายกรณีในอินเตอร์เนตที่คนเถียงทะเลาะกันเพราะเรื่องกินเนื้อวัว ไม่กินเนื้อวัว ไม่กินเนื้อวัวเป็นคนดี กินเนื้อวัวเป็นคนไม่ดี (ประเด็นการกินเจก็เช่นกัน) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งเหมือนกัน ที่ตรงกับประโยคที่ผมคิดขึ้นเองว่า “อัตตาข้าใครอย่าแตะ”

(เขียนเมื่อ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๑)

No comments:

Post a Comment