Wednesday, May 13, 2009

เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ตอน ทำไมพวกนี้ไม่สูญพันธุ์

หัวข้อเรื่องนี้เหมือนชื่อหนังสืออ่านนอกเวลาที่เคยอ่านสมัยมัธยม ซึ่งเป็นหนังสือที่อ่านสนุกและทำให้รู้ถึงวิถึีชีวิตของคนไทยสมัยเมื่อเจ็ดสิบแปดสิบปีก่อน แต่ว่าบทความนี้ไม่ได้เกี่ยวกับหนังสือที่กล่าวมาข้างต้นเลย

ผมได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมเวบไซด์ “หนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีหนังสือเก่าเมื่อหลายสิบปีก่อนอยู่หลายเล่ม สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ pdf ไฟล์

ลองดาวน์โหลดมาอ่านดูแบบเร็วๆ สองสามเล่มก็รู้สึกว่าน่าสนใจดี และคิดว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เราน่าจะรักษาไว้ ถ้ารัฐบาลใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนหนึ่งทางด้านนี้ก็น่าจะดี โดยจ้างคนมาแสกนหนังสือเก่าๆ ตามหอสมุดแห่งชาติเพื่อเก็บในรูปไฟล์ภาพ หรือ pdf เพื่อรักษาเนื้อหาในหนังสือไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา จากสภาพทางกายภาพของหนังสือที่จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ

หนังสือเล่มแรกที่ผมลองดาวน์โหลดมาอ่านดูก็คือ “วัฒนธรรมแห่งชาติและระเบียบการแต่งกาย” โดย คณะกรมการจังหวัดพระนครและธนบุรี ซึ่งพิมพ์แจกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2484 ซึ่งเป็นช่วงรัฐนิยม สมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งในบทนำของหนังสือเล่มนี้ มีบทหนึ่งที่ขอความร่วมมือให้คนไทย ละเว้นการกระทำต่างๆ ดังนี้

1.ไม่ช่วยเหลือหรือให้เกียรติยศแก่สตรีเพศ หรือคนป่วย คนชรา ตามสมควร
2.สูบบุหรี่ในที่ซึ่งรู้แล้วว่าอาจจะเกิดความรำคาญแก่ผู้อื่น
3.แย่งกันซื้อบัตรเข้าดูมหรสพ โดยไ่ม่เรียงตามลำดับก่อนหลัง
4.เขียนชื่อตนลงในสภานที่สำคัญของชาติ เช่น โบราณสถาน เพื่อหวังเพียงให้ชื่อของตนปรากฎในที่นั้น โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอันจะึพึงมีแก่สิ่งสำคัญของชาติ
5.ทำลายสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ เช่น ลอบลักถอดหลอดไฟฟ้าที่ใช้จุดให้แสงสว่างแก่ประชาชน
6.เห็นแก่ความสนุกในการทำลายสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น ทำอันตรายแก่ป้ายบอกชื่อถนน
7.เห็นแก่ความสนุกส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น เช่น ลอบเจาะยางรถยนตร์
8.เห็นความเดือดร้อนของผู้อื่นเป็นความเพลิดเพลินเบิกบานของตัว เช่น เวลาเิกิดอัคคีภัย มักไปยืนดู หรือเอารถยนตร์ไปจอดดูเล่นอย่างสนุกสนาน จนเป็นที่กีดขวางแก่เจ้าหน้าที่่ที่จะทำการดับเพลิง

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาเมื่อเกือบ “เจ็ดสิบปี” ก่อน แต่จากความรู้สึกของผมแล้ว คนบางคนในปัจจุบันก็ยังมีนิสัยเสียอย่างที่กล่าวมาไว้ขั้นต้น อีกทั้งมีพฤติกรรมแย่ๆ ที่เลวร้ายอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามสภาพสังคมที่มีระบบระเบียบซับซ้อนขึ้น

แม้ว่าช่องทางการสื่อสารหรือเผยแพร่ในสมัยก่อนจะไม่กว้างขวางและครอบคลุมดังเช่นปัจจุบัน แต่ว่าการสั่งสอน บอกกล่าวต่อกันมาเป็นหลายสิบปีก็น่าจะทำให้คนพวกนี้สูญพันธุ์ไปบ้าง แต่ว่าในปัจจุบันเราก็ยังเห็นอยู่แม้อาจจะไม่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง แต่ก็สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้เราได้ไม่เว้นแต่ละวัน เช่น การไร้มารยาทในการขับขี่ การแซงคิว

ผมไม่รู้ว่าคำกล่าวที่ว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ถูกเริ่มใช้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ว่าก็อยากให้มันหมดไปในรุ่นของเราในปัจจุบัน (30+ :P ) หวังว่าถ้าครอบครัวและโรงเรียนช่วยกันกวดขันอย่างจริงจัง และผู้ใหญ่ช่วยสร้างบรรทัดฐานที่ดีแก่สังคม พวกที่มีพฤติกรรมน่ารังเกียจ ไร้ความเกรงใจ มักง่าย และเห็นแก่ตัวจะได้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยมากๆ และน่าจะสูญพันธุ์ไปเสียที

อ้างอิง: http://library.tu.ac.th/newlib2/newweb/rarebook/rarebook.html